วัดหน้าพระเมรุ

22 01 2007

วัดหน้าพระเมรุ เป็นวัดมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
เนื่อจากเคยเป็นวัดที่พม่าใช้ตั้งฐานบัญชาการจึงเป็นวัดเดียว
ในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา
และอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดหน้าพระเมรุ เป็นวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มักเดินทางไปนมัสการ
หลวงพ่อพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา

ประวัติ
ตำนานกล่าวถึงวัดนี้ว่า พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ รัชกาลที่ ๑๐
แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๘๖๔ (พ.ศ. ๒๐๔๖) ประทานนามว่า
“วัดพระเมรุราชิการราม” แต่ประชาชนส่วนมากนิยมเรียกว่า “วัดพระเมรุ” จึงเป็นนาม
ของวัดที่ใช้มาจนทุกวันนี้

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเหตุการณ์คราวทำสัญญาสงบศึกระหว่าง
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มีการปลูกพลับพลาเป็นที่ประทับ
ซึ่งอยู่ด้านหน้าวัดพระเมรุกับวัดหัสดาวาส (ปัจจุบันวัดหัสดาวาสเหลือเพียงซากเจดีย์)

อีกตอนหนึ่งเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอะลองพญามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ
พ.ศ ๒๓๐๓ พม่า เอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส พระเจ้าอะลองพญา
ทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในวัดพระเมรุราชิการามแตกต้องพระองค์
บาดเจ็บสาหัส ประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๐๓ พม่าเลิกทัพกลับไป
ทางเหนือหวังออกทางด่านแม่ละเมาะ แต่ยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้น
พระชนม์ระหว่างทาง

จุดที่น่าสนใจ

พระอุโบสถ ยาวประมาณ ๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๖ เมตร มีมุขทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง หน้าพระอุโบสถสู่ทิศใต้ หลังพระอุโบสถสู่ทิศเหนือ พระอุโบสถมี
ส่วนยาวและกว้างมาก มีอากาศ ถ่ายเท ไม่อับ ไม่มีหน้าต่างอย่างพระอุโบสถ
สันนิษฐานว่าผู้สร้างคงจะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น


-พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ-

หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยีบเศียรนาค
และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาคล้อมรอบด้วยหมู่เทพนม (เทพชุมนุม)
จำนวน ๒๖ องค์มีบังฐานและกระจัง ลงรักปิดทอง ติดกระจกสี เช่นเดียวกับด้านหน้า
ภายในพระอโบสถเดิมมีถาพเขียนด้วยสีโบราณเป็นรูปภิกษุณีสงฆ์
การบูรณะในขั้นต่อๆมา ถูกฉาบทาด้วยปูนเลียบขาวปรากฏดังเช่นปัจจุบันนี้
การบูรณะส่วนอื่นๆ ของตัวพระอุโบสถได้รักษาส่วนและรูปทรงของเดิมไว้ทุกส่วน
คงมีแต่ลายที่เสาและลายเขียนที่ฝาผนัง ซึ่งถูกลบเลือนสันนิษฐานว่าการบูรณะ
ครั้งหลังนี้คงจะหาช่างที่มีฝีมือทัดเทียมของเดิมได้ยาก ประกอบกับจะต้องใช้
งบประมาณและเวลามากด้วย


-พรพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ-

ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูป(พระประธาน) เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด
ภายนอกฉาบด้วยปูนลงลักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราช
สมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ ๔.๔๐ เมตร สูงประมาณ ๖.๐๐ เมตร
พระนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งมีพระลักษณะสวยงามมาก
พระนามบ่งชัดถึงพระลักษณะอันพิเศษ มีพระอภินิหาร เป็นสรณะที่พึ่ง
ที่เคารพสักการะอย่างยิ่งแก่โลกทั้ง ๓ เกิด ปิติศรัทธาแก่ผู้ที่ได้เข้ามานมัสการ
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และคุ้มครองบ้านคุ้มครองเมือง ทำให้ข้าศึกเกิด
ความเกรงกลัวไม่ทำลายวัดนี้ได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ควรแก่การที่จะไปนมัสการอย่างยิ่ง

พระวิหารหลังเดิม ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ(เหนือพระอุโบสถ) เรียกชื่อกันต่อๆมา
แต่โบราณว่า “วิหารขาว” พระประธานในวิหารขาวเป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยปูนชำรุดทั้งองค์
เศียรหัก ฝาผนังวิหารชำรุดหักพังเหลือแต่ซาก เมื่อสมัยพระครูครุพุทธวิหารโศภน (เลี้ยง)
เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะโดยวิธีเก็บอิฐที่หักพังมาก่อหุ้มพระประธานที่ชำรุด
ไว้ภายในเป็นพระพุทธรูปปางพุทธลีลาไว้ด้านหน้าตรงพระอุระ นำพระพุทธรูปศิลา
ปางมารวิชัยที่ชำรุดมาบูรณะขึ้นใหม่ ประดิษฐานไว้ด้านหลังตรงพระปฤศฏางค์
ของพระประธานองค์เดิมที่ก่อหุ้มไว้ และสร้างห้องสำหรับบำเพ็ญกัมมัฏฐาน
โดยการก่ออิฐถือปูนขึ้นใหม่จำนวน ๓ ห้อง หลังพระประธาน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘
ทางวัดได้บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุ ณ วิหารนี้ พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้น
ในสมัยที่สร้างวัด ชำรุดหักพังเพราะ ธรรมชาติ มิได้มีการบูรณะ ปัจจุบันทางวัด
ได้สร้างสถานที่ต่อเติมออกมาทางด้านทิศตะวันออก ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน
ของพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มีศรัทธาจากทุกสารทิศ

พระวิหารสรรเพชญ์ (ประชาชนเรียกชื่อว่าพระวิหารคันธารราฐ)
เป็นที่ประทับของพระพุทธรูปพระนามว่า “คันธารราฐ” และเรียกชื่อว่า “วิหารเขียน”
เพราะมีลายเขียนในพระวิหารและมีชื่อเรียกกันอีกว่า “วิหารน้อย” เพราะมีขนาดน้อยด้วย
ยาวประมาณ ๑๖ เมตร กว้างประมาณ ๖ เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ ๒ เมตรเศษ
พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สร้างในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ผู้สร้างได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลา (ศิลาเขียว)
ประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระคันธารราฐ” ย้ายมาจากวัดมหาธาตุ
ในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดร้างในยุคนั้น
มาประดิษฐานในวิหารน้อยที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ผู้สร้างได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่
ฝาผนังเมื่อ พ.ศ. ที่สร้างว่า “พระคันธารราฐ” นี้ พระอุบาลีซึ่งจำพรรษาอยู่
ที่วัดธรรมาราม นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณฑูต พร้อมด้วย
พระสงฆ์สยามวงศ์ นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา
นักโบราณคดีมีความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สร้างระหว่าง
พ.ศ. ๑๐๐๐ – ๑๒๐๐ และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาไว้ที่วัดมหาธาตุ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมอยู่ที่วัดพระเมรุราชิการาม จังหวัดนครปฐม
เนื่องจากทางราชการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด สันนิษฐานว่าเป็นเรือนแก้ว
ของพระพุทธรูปองค์นี้


-พระคันธารราฐ-

มณฑปนาคปรก
ตั้งอยู่หน้าพระวิหารน้อย ห่างจากพระวิหารประมาณ ๒๕ เมตร พระยาไชยวิชิต(เผือก)
สร้างในปีที่สร้างพระวิหารน้อย (ปี พ.ศ. ๒๓๘๑) อัญเชิญพระพุทธรูปศิลานาคปรก
ซึ่งย้ายมาจากวัดมหาธาตุกับพระคันธารราฐประดิษฐานในมณฑปนาคปรก เมื่อปี 2474
วัดหน้าพระเมรุว่างจากเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์อยู่เฝ้ารักษาวัดเพียงรูปเดียว
ทางราชการกรมศิลปากรจึงนำพระพุทธรูปศิลานาคปรกในมณฑปนี้ไปเก็บรักษาไว้
ณ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติกรุงเทพพร้อมกับได้นำพระพุทธรูปอุ้มบาตรที่ประดิษฐาน
ณ บุษบกบัญชรหน้าพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลานาคปรกหน้าพระวิหารสรรเพชญ์
จำนวน 2 องค์ พระพุทธรูปศิลายืนที่หลังพระวิหารน้อย 1 องค์ รอยพระพุทธบาทหล่อ
ด้วยโลหะที่มณฑปพระบาท ตั้งอยู่หน้าพระวิหารน้อย ทางวัดก่อฐานตั้งศิวลึงค์ไว้แทนมณฑป
ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

การเดินทาง
เมื่อมาถึงเกาะเมืองอยุธยา วิ่งรอบคูเมืองไปตามถนนอู่ทอง ตัดข้ามคูเมือง
ตามเส้นที่จะไปบ้านคลองสระบัว วัดหน้าพระเมรุอยู่ด้านซ้ายมือ

เปิดเวลา 08.30-17.30 น.
ค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ 20 บาท

Link อื่น ๆ
แผนที่ท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา
แผนที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา